โครงการธนาคารควาย-วัว


ความเป็นมา

โครงการธนาคารควาย-วัว เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความคิดประยุกต์จากการทำบุญ ให้เป็นประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ ของพระเดชพระคุณพระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) เมื่อครั้งดำรงสมณะศักดิ์เป็นที่ พระราชวินยาภรณ์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท

เมื่อประมาณปลายปี พ.ศ.2521 ได้มีนายแพทย์อุทัย สนธินันท์ ข้าราชการบำนาญ นำเรื่องที่ญาติของนายแพทย์อุดม ประนิช ซึ่งป่วยเป็นอัมพาต มีความประสงค์ที่จะทำบุญสืบชะตาต่ออายุ โดยการนำทรัพย์ไปไถ่ชีวิตควาย-วัว ที่เขากำลังจะนำฆ่า แล้วนำมาถวายหลวงปู่จันทร์ กุสโล (สมัยนั้นท่านมีสมณศักดิ์เป็นที่พระราชวินยาภรณ์) ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ซึ่งหลวงปู่จันทร์ กุสโล ได้พิจารณาเห็นว่า การทำบุญแบบนี้มีประโยชน์ ไม่เสียหายอะไร กล่าวคือผู้ไถ่ชีวิตควาย-วัวได้รับบุญ ได้อานิสงค์ ส่วนควาย-วัว ก็รอดชีวิตจากการถูกฆ่า ท่านฯจึงตอบรับและทำพิธีรับมอบควาย-วัว โดยนำมาเลี้ยงไว้ที่วัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และการทำบุญแบบนี้ได้เพิ่มจำนวนขึ้น ต่อมาก็เกิดปัญหาในการเลี้ยงดู

จึงได้นำเรื่องนี้มาพิจารณาเกิดความคิดว่า เมื่อควาย-วัว ที่ได้รับการไถ่ชีวิต มีชีวิตรอด น่าจะนำควาย-วัว เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ อันเป็นการช่วยเหลือคนยากคนจนอีกต่อหนึ่ง ท่านจึงกำหนดให้เป็นโครงการธนาคารควาย-วัว ขึ้น โดยเริ่มแรกได้มอบให้สมาชิกของมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้วัด โดยให้สมาชิกชาวบ้านได้รวมกลุ่มกัน แล้วจัดตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบติดตาม

วัตถุประสงค์ของโครงการ

ในส่วนของผู้บริจาค เพื่อทำบุญสืบชะตาต่ออายุ เรียกว่าทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ โดยประสงค์ที่จะให้เป็นบุญเป็นอานิสงค์กับตัวเองหรือญาติพี่น้อง พ่อแม่ ให้ได้รับความสุข หายจากป่วยไข้และอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร

ในส่วนของมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท

1. เพื่อให้การทำบุญเกิดผลมากขึ้นในด้านพัฒนาเศรษฐกิจ

2. เพื่อเป็นการส่งเสริม บำรุง และอนุรักษ์พันธุ์สัตว์

3. เพื่อส่งผลให้การลดต้นทุนในการผลิต ของชาวไร่ชาวนา

4. เพื่อส่งเสริมให้เป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพทดแทน

 

คุณสมบัติของสมาชิกที่สมควรรับความช่วยเหลือ จากโครงการธนาคารควาย-วัว

1. ต้องเป็นสมาชิกของมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท

2. เป็นผู้ที่มีอาชีพทำนา ทำสวน และยากจน

3. เป็นผู้มีความประพฤติดี เสียสละ ให้ความร่วมมือกับโครงการพัฒนาหมู่บ้าน

 

ขั้นตอนการดำเนินงาน

1. เปิดรับบริจาคไถ่ชีวิตควาย-วัว จากผู้ใจบุญทั่วไป ทั้งรายบุคคล ครอบครัว คณะหรือองค์กร ด้วยการบริจาคสมทบ หรือบริจาคเป็นตัว เนื่องในโอกาสวันสำคัญต่างๆ สามารถบริจาคได้ตลอดทั้งปี

2. การคัดเลือกกลุ่ม/หมู่บ้าน และสมาชิก โดยมีขั้นตอนในการดำเนินงานดังนี้

2.1 เกษตรกรที่ยากจนและประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก โดยรวมกลุ่มกันจำนวน15ครัวเรือนขึ้นไป และจัดทำโครงการเสนอขอเข้าร่วมกิจกรรมกับโครงการธนาคารควาย-วัว

2.2 เจ้าหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายหรือรับผิดชอบพื้นที่ เข้าไปในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อทำความรู้จัก สำรวจความเป็นไปได้ ด้านกายภาพ ศักยภาพ และชี้แจงโครงการธนาคารควาย-วัว ของมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท

2.3 สมาชิกเข้าร่วมฝึกอบรมตามหลักสูตรที่มูลนิธิฯกำหนดขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจให้ความรู้เพิ่มเติม

2.4 สนับสนุนแม่พันธุ์ควาย-วัว ตามลำดับกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนไว้

 

การให้ความช่วยเหลือและเงือนไข

มูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท จะมอบแม่พันธุ์ควาย-วัวให้กับสมาชิกที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการกลุ่ม/หมู่บ้าน และมีความรู้ความเข้าใจในระเบียบสัญญาการเลี้ยงควาย-วัว มีความเข้าใจในการดูแลสัตว์เลี้ยง

มีเงื่อนไขต่างๆดังนี้

1. สมาชิกจะได้รับแม่พันธุ์ควายหรือวัว ครอบครัวละไม่เกิน 5ตัว โดยจะทยอยได้รับจนครบตามที่คณะกรรมการกลุ่ม/หมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบพื้นที่พิจารณาร่วมกัน

2.เมื่อสมาชิกได้รับควาย-วัวแล้ว ห้ามนำไปทรมาน ห้ามนำไปฆ่า ห้ามนำไปจำหน่ายจ่ายแจกโดยพละการ ต้องเลี้ยงจนสิ้นอายุขัยของสัตว์

3. เมื่อเกิดปัญหาใดๆขึ้น ให้คณะกรรมการกลุ่ม/หมู่บ้านและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบพื้นที่ พิจารณาดำเนินการแก้ไขร่วมกัน แล้วเสนอต่อมูลนิธิฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบอนุมัติ จะทำโดยพละการไม่ได้

4. เมื่อแม่พันธุ์ควาย-วัว เกิดลูก สมาชิกผู้เลี้ยงจะต้องส่งลูกขยายคืนแก่มูลนิธิฯ 1 ตัว ต่อ 1แม่พันธุ์ โดยลูกควายต้องมีอายุ 1ปี6เดือน ลูกวัวต้องมีอายุ 1ปีขึ้นไป จะเป็นลูกควาย-วัว ตัวที่1หรือตัวที่2ก็ได้ แล้วแต่มติกลุ่มจะกำหนดและตกลงถือปฏิบัติร่วมกัน

5. สมาชิกผู้เลี้ยงควาย-วัว ต้องเสียค่าธรรมเนียมบำรุงโครงการธนาคารจวาย-วัว แม่พันธุ์ละ 500บาท กรณีลูกขยายที่ขยายภายในกลุ่ม ให้เสียค่าธรรมเนียม500บาท เพื่อบำรุงกลุ่ม/หมู่บ้าน โดยเสียค่าธรรมเนียมเพียงครั้งเดียวทั้งสองกรณี

6. สมาชิกผู้เลี้ยง ต้องบริจาคขี้(มูล)ควาย-วัว ให้แก่โครงการธนาคารควาย-วัว ตัวละ6กระสอบ ต่อปี(กระสอบละ20บาท) ระยะเวลา5ปี

7. สมาชิกผู้เลี้ยงควาย-วัว จะต้องเข้าร่วมกิจกรรม ประชุม อบรม สัมมนา ที่จัดขึ้นทั้งในกลุ่ม/หมู่บ้านและที่มูลนิธิฯโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ

8. สมาชิกผู้เลี้ยงควาย-วัว จะต้องนำคุณธรรมที่มูลนิธิฯกำหนดให้เป็นคุณสมบัติของสมาชิก ฝึกปฏิบัติอย่างแท้จริงคือ ขยัน ประหยัด เสียสละ สามัคคี และมีการนำผลประโยชน์จากควาย-วัว ไปใช้พัฒนาตนเอง จนสามารถพึ่งตนเองได้และช่วยเหลือผู้อื่นต่อ

 

การติดตามโครงการ ธนาคารควาย-วัว

การติดตาม การดำเนินงานโครงการธนาคารควาย-วัว จะมีการติดตามจากระดับองค์กรจนถึงระดับสมาชิกแต่ละคน คือ

1. คณะกรรมการผู้บริหาร จะติดตามผลการดำเนินงานโครงการ จากการประชุมประจำเดือนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบกลุ่ม/หมู่บ้าน จะเป็นผู้สรุปและนำเสนอต่อที่ประชุมประจำเดือนทุกเดือน

2. เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบกลุ่ม/หมู่บ้าน ติดตามผลการดำเนินงานโครงการ จากคณะกรรมการกลุ่ม/หมู่บ้าน (อาจลงไปติดตามสมาชิกแต่ละรายกรณีเกิดปัญหา)

3. คณะกรรมการกลุ่ม/หมู่บ้าน รับผิดชอบติดตามสมาชิกแต่ละรายและจัดทำบันทึกความก้าวหน้า ปัญหา การแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง

 

การแก้ไขปัญหา

1. มูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท มอบอำนาจให้คณะกรรมการกลุ่ม/หมู่บ้าน เป็นผู้รับผิดชอบ ควบคุม ดูแล และแก้ไขปัญหาโครงการ โดยยึดแนวทางจากระเบียบสัญญาการเลี้ยงควาย-วัว เป็นหลักปฏิบัติ

2. มูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบกลุ่ม/หมู่บ้าน ดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีที่คณะกรรมการกลุ่ม/หมู่บ้านไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

 

ผลการดำเนินงานโครงการธนาคารควาย-วัว

1. "คนช่วยควาย-วัว ควาย-วัวช่วยคน" เป็นข้อสรุปสั้นๆของโครงการ วิธีคิดปรับประยุกต์ การทำบุญสู่งานพัฒนา ของพระเดชพระคุณ พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) ก่อให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันทางสังคม ระหว่างผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกับผู้ด้อยโอกาสที่ยากจน โดยมีมูลนิธิฯเป็นตัวเชื่อม ส่งผลให้เกิดคุณค่าและมูลค่าตามมาอย่างต่อเนื่อง อาจเรียกได้ว่าบุญต่อบุญ ทำบุญไถ่ชีวิตควาย-วัว ได้บุญจากการเสียสละปัจจัย เกิดความอิ่มใจ มูลนิธิฯเป็นคนกลางส่งบุญต่อให้เกษตรกรผู้ยากไร้ ถือว่าเป็นคนมีบุญได้สมบัติไว้เลี้ยงชีพและครอบครัว ส่งบุญต่อไปถึงควาย-วัว ให้อยู่ดีมีสุข รอดชีวิต ควาย-วัวก็ได้ทำบุญด้วยการตอบแทนผู้เลี้ยงดู ที่ให้น้ำให้หญ้า ให้ที่พักหลับนอน เกิดลูกก็สืบอายุของแม่ควาย-วัว เพื่อส่งต่อให้เกษตรกรที่ยากไร้รายต่อๆไปอย่างไม่สิ้นสุด ตลอดระยะเวลา37ปี ของการดำเนินงานโครงการธนาคารควาย-วัว มีผู้ใจบุญรายบุคคล ครอบครัว คณะบุคคล หน่วยงาน สถาบันต่างๆ ได้สนับสนุนการไถ่ชีวิตควาย-วัว ให้แก่โครงการมาอย่างต่อเนื่อง มีเกษตรกรผู้ยากไร้ได้รับประโยชน์จากบุญสู่บุญจนถึงปัจจุบัน รวม1,018ครอบครัว

2. เกิดการพัฒนาอาชีพทางเลือกให้แก่เกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มเป้าหมาย ที่มีพื้นที่สำหรับเลี้ยงควาย-วัว ทั้งพื้นที่สูงป่าชุมชน หรือพื้นที่ราบหัวไร่ปลายนา ที่ดินสาธารณะ มีแหล่งน้ำ สมาชิกผู้เลี้ยงต้องมีพื้นที่สร้างโรงเรือน มีที่ว่างสำหรับปลูกหญ้าหรือพืชอาหารสัตว์ สำหรับไว้เลี้ยงควาย-วัว ในฤดูแล้งอย่างพอเพียง โดยเริ่มต้นจากการเลี้ยงเป็นอาชีพรอง เพื่อเสริมรายได้ แล้วค่อยๆพัฒนาไปสู่การเลี้ยงเป็นอาขีพทดแทนหรืออาชีพหลัก โดยมีระบบการเลี้ยงควาย-วัว2ระบบคือ

2.1 ระบบการเลี้ยงกึ่งขังกึ่งล่าม ในพื้นที่ราบลุ่มมีขนาดพื้นที่จำกัดขนาดเล็ก ติดกับไร่นาสวน ระบบนี้จะสามารถควบคุมการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพได้เช่น การคัดเลือกหรือพัฒนาสายพันธุ์ควาย-วัว การดูแลเรื่องอาหาร การควบคุมป้องกันและรักษาโรค และมีประโยชน์เป็นรายได้ประจำคือการเก็บรวบรวมปุ๋ยคอกซึ่งจะสามารถจัดเก็บได้ร้อยละ90

2.2 การเลี้ยงแบบเลี้ยงปล่อยป่า แต่มีจุดพักรวม (ป๋าง) ส่วนใหญ่จะเป็นการเลี้ยงปล่อยตามป่าชุมชน ป่าสงวน ป่าต้นน้ำ ควบคุมได้ไม่มากนักทำให้การขยายพันธุ์เป็นแบบสายเลือด พัฒนาสายพันธุ์ไม่ได้ ควบคุมโรคและป้องกันรักษาได้ยาก ประโยชน์จากการเก็บปุ๋ยคอกได้น้อย แต่เกิดผลการพัฒนาโดยอ้อมต่อสภาพทรัพยากรป่าไม้และดิน มีการขยายพันธุ์พืชจากการย้ายแหล่งที่กินอาหารของสัตว์ เส้นทางเดินของสัตว์ มีประโยชน์เป็นแนวป้องกันไฟป่าได้ดี ดินในป่าอุดมสมบูรณ์เพราะได้รับปุ๋ยคอกจากสัตว์ ทำให้เกิดอาหารป่าเพิ่มขึ้น เช่น เห็ด หน่อไม้ พืชผักต่างๆ

ปัจจุบันมีควาย-วัว (ธันวาคม2558) ที่ได้รับการบริจาค จากผู้ใจบุญแล้วมอบต่อให้กับสมาชิกนำไปเลี้ยงตามสัญญา แม่พันธุ์ 1ตัว เมื่อเกิดลูกต้องส่งคืนโครงการ 1ตัว ที่เกิดเพิ่มขึ้นนอกจากนั้นยกให้กับสมาชิกผู้เลี้ยงทั้งหมด มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการเลี้ยงควาย-วัว รวมทั้งสิ้น1,018 ครอบครัว มีควายอยู่ในโครงการทั้งสิ้น1,014ตัว วัว4,685ตัว รวม5,699ตัว คิดเป็นมูลค่ารวม67,130,000บาท (ควายเฉลี่ยตัวละ20,000บาท วัวเฉลี่ยตัวละ10,000บาท)

3. เกิดการรวมกลุ่มสมาชิกโครงการธนาคารควาย-วัว จาก80หมู่บ้าน ในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง เป็นเครือข่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการ ร่วมกับมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ในทุกๆด้าน

(เนื้อหายังไม่เสร็จสมบูรณ์)