เกี่ยวกับเรา
ความเป็นมา
มูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท วัดป่าดาราภิรมย์ เป็นองค์กรสาธาระประโยชน์ ก่อตั้งโดยพระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล) เมื่อปี พ.ศ. 2517 ดำเนินงานพัฒนาสังคมโดยไม่แสวงหาผลกำไร ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เพื่อดำเนินงงานเกี่ยวกับการพัฒนาชนบทที่ยากจน มุ่งเน้นให้ชาวชนบทในพื้นที่เป้าหมายได้พัฒนาตนเอง สามารถพึ่งตนเองได้ สนับสนุนให้มีการแก้ไขปัญหาร่วมกันด้วยการรวมกลุ่ม ภายใต้ปรัชญาการทำงาน “เศรษฐกิจ จิตใจ ต้องแก้ไขพร้อมกัน”
วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมความสามารถทางกสิกรรมที่เหมาะสมกับท้องถิ่น
2. เพื่อส่งเสริมความสามารถทางการค้า การสหกรณ์ การเศรษฐกิจ การปกครอง การอนามัย ประชากรศึกษา และอื่นๆ ที่จะช่วยให้อาชีพกสิกรรมได้รับผลดียิ่งขึ้น
3. เพื่อส่งเสริมความรู้ความสามารถของการเป็นผู้นำในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงหมู่บ้านของตนเอง ให้เจริญก้าวหน้าในวิถีประชาธิปไตย
4. เพื่อส่งเสริมความรู้สึกรับผิดชอบที่จะรักษาไว้ซึ่งวัฒนะรรมของท้องถิ่น
5. เพื่อส่งเสริมคุณค่าแห่งการครองชีพในทางซื่อสัตย์ อดทน ขยัน กตัญญู ประหยัด และเป็นธรรม
6. เพื่อส่งเสริมการรู้จักใช้ความคิดอย่างมีเหตุผล
7. เพื่อส่งเสริมความสำนึกในหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง
หลักการดำเนินงาน
1. ส่งเสริมกสิกร มุ่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มหรือจัดตั้งองค์กรชาวบ้านให้เข้มแข็ง ก่อตั้งกองทุนหรือสถาบันการเศรษฐกิจของชุมชน โดยหลักการของงานสหกรณ์ ทั้งในหน่วยเกษตรพัฒนา และเมตตานารี
2. มุ่งสอนวิทยา มุ่งให้การศึกษาที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา ความรู้ ทักษะ ความชำนาญในการผลิตการบริหารและการจัดการในรูปแบบการฝึกอบรม การประชุมสัมมนา การทัศนศึกษา ดูงาน การสาธิต การให้การศึกษารูปแบบสถาบันพัฒนาเยาวสตรี และสถาบันการเรียนรู้
3. ดำรงศาสนา คือการนำหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชนบท เพื่อแก้ปัญหาด้านจิตใจ ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง เหมาะสมในวิถีชาวพุทธ ในรูปแบบของการอบรมสอดแทรกธรรมะ ข้อคิด ในเวทีการจัดกิจกรรมต่างๆ และกำหนดให้สมาชิกมูลนิธิฯ มีธรรมะเป็นคุณสมบัติประจำตัว และประจำกลุ่ม รวม 4 ข้อคือ 1.เพิ่มพูนความขยัน(ขยัน) 2.แข่งขันกันประหยัด(ประหยัด) 3.ฝึกหัดทำความดี(เสียสละ) 4.สามัคคีร่วมชาติ(สามัคคี)
นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้วัดหรือพระสงฆ์เป็นผู้นำในการพัฒนาสังคม โดยสนันสนุนพระสงฆ์ที่อยู๋ในพื้นที่เป้าหมายร่วมทำกิจกรรมกับสมาชิก และรวมกลุ่มพระสงฆ์ขึ้น (กลุ่มสังฆพัฒนาชุมชนล้านนา)
4. พัฒนาท้องถิ่น สนับสนุนให้สมาชิกชาวบ้านในชนบทเกิดจิตสำนึกที่จะพัฒนาท้องถิ่นของตนเองในทุกๆด้าน เช่น อาชีพกลุ่ม วัฒนธรรมประเพณี องค์ความรู้และภิมปัญญาที่มีคุณค่า รวมถึงสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้หลักคิดที่ว่า “ไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่ เป็นหัวใจของการพัฒนา”